top of page

ผศ.ดร. อภิญญา เฟื่องฟู

ยายเกิดวันที่ 25 ธันวาคม 2500

เริ่มต้นเรียนชั้นประถมศึกษาจนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ยายจบอักษรฯ ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง เอกภาษาฝรั่งเศส โดยมีวิชาโทคือ ปรัชญาและภาษาอังกฤษ ทันทีที่เรียนจบปริญญาตรี ยายเรียนต่อปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยใช้เวลาเต็มที่คือ 5 ปี ระหว่างเรียนปริญญาโท ยายได้ทุนนักเรียนแลกเปลี่ยนไปอยู่มหาวิทยาลัยโซกะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 1 ปี 

หลังจากจบปริญญาโท ยายได้รับการชักชวนให้ไปสอนที่มหาวิทยาลัยเกริก โดยยายกับเพื่อน ๆ ช่วยกันวางหลักสูตร ให้กับมหาวิทยาลัย เป็นการบุกเบิกทิศทางของมหาวิทยาลัยจากแนวพาณิชยการมาเป็นมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ยายสอนที่เกริก 4 ปี ก่อนได้ทุน DAAD  (Deutscher Akademischer Austausch Dienst) ซึ่งเป็นทุนให้เปล่าของเยอรมนีไปเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Bielefeld ยายสอบได้ที่หนึ่งของรุ่นในโรงเรียนสอนภาษาเยอรมันก่อนเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย และสำเร็จปริญญาเอกด้านสังคมศาสตร์ โดยทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับมานุษยวิทยาและศาสนา  

 

หลังจบปริญญาเอกในปี พ.ศ. 2537 ยายได้รับการชักชวนให้มาสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะสังคมศาสตร์ ยายสอนหนังสืออยู่ที่นี่จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2559)

นอกจากความสามารถทางการเรียน ยายยังมีความสามารถด้านดนตรีอย่างโดดเด่น ยายเป็นนักร้อง ขับร้องเพลงไทยเดิมให้วงดนตรีไทยของโรงเรียนสาธิตจุฬาฯมาตั้งแต่ชั้นประถม เมื่อเข้าเรียนที่คณะอักษรฯ ยายก็เข้าเป็นสมาชิกชมรมดนตรีไทยของมูลนิธิหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ในความดูแลของคุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ทายาทของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ โดยเรียนขิมอย่างจริงจังจากอาจารย์ชนก สาคริก  ซึ่งเป็นหลานตาของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ และเป็นหลานป้าของคุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง นอกจากจะได้ฝึกฝนความชำนาญทางการเล่นดนตรีแล้ว ที่นี่ยังได้หล่อหลอมยายให้เป็นผู้ที่เรียนรู้โลกทัศน์ของความเอื้ออาทร และจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างแท้จริง ยายฝึกฝนการเล่นดนตรีที่บ้านหลังนี้ทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ติดต่อกันเป็นเวลาถึง 10 ปี  ยายกล่าวว่า การเล่นดนตรีคือความละเมียดละไมของชีวิต การเล่นดนตรีทำให้หูละเอียด ตาละเอียด มือละเอียด จนกระทั่งใจละเอียด นอกจากเล่นขิมแล้ว ยายยังสนใจและฝึกฝนการเล่นกู่เจิง หรือโกเจ็ง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีของจีน จนสามารถเล่นได้อย่างเชี่ยวชาญ ยายนำเครื่องดนตรีชนิดนี้ไปฝึกซ้อมระหว่างเรียนต่อปริญญาเอกที่เยอรมนีด้วย ทำให้มีโอกาสร่วมแสดงดนตรีในกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นระหว่างช่วงเวลานั้น

 

ตั้งแต่พ.ศ. 2541 จนถึงปัจจุบัน ยายปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังที่วัดถ้ำดอยโตน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่   และเมื่อปีพ.ศ. 2550  ทางวัดเริ่มจัดอบรมธรรมะสำหรับชาวต่างชาติอีกด้วย โดยยายอุทิศตนเป็นธรรมบริกร ทำหน้าที่เป็นล่ามให้กับพระอาจารย์ปิยทัสสีภิกขุเและแปลหนังสือธรรมะของพระอาจารย์เป็นภาษาอังกฤษ รวมถึงเป็นผู้ช่วยจัดอบรมวิปัสสนาให้กับคริสตศาสนิกชน ลัทธิ Jesuit ที่ต้องการมาศึกษาวิปัสสนาสมาธิ ที่วัดถ้ำดอยโตนปีละครั้ง

 

จากประวัติชีวิตอันทรงคุณค่าของยาย ยายกล่าวว่า อักษรศาสตร์คือพื้นฐานของทุกสิ่ง ยายมีความเป็นอักษรศาสตร์ตั้งแต่ดั้งเดิม ชอบอ่านวรรณคดีมาตั้งแต่เด็ก คณะอักษรศาสตร์เป็นอันดับแรกและอันดับเดียวที่ยายเลือก โดยคิดว่า ถ้าไม่ติดคณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ ก็จะเอ็นทรานซ์ใหม่ อักษรศาสตร์ช่วยให้ยายมองโลกผ่านความงามและความรู้สึกจากภายใน ทำให้การรับรู้ผ่านโสตประสาททุกชนิดของยายละเอียดอ่อนและแหลมคม ช่วยให้ยายเข้าใจโจทย์ยาก ๆ ของชีวิต และช่วยให้ยายเข้าใจความเป็นมนุษย์อย่างลึกซึ้ง และความละเอียดอ่อนนี้เองที่ช่วยเป็นเข็มทิศประคองยายให้ผ่านวิกฤติต่าง ๆ ในชีวิตตลอดมา ถึงแม้ว่าอักษรศาสตร์จะไม่ใช่การเรียนเพื่อประกอบสาขาวิชาชีพโดยตรง แต่ยายมองว่าอักษรศาสตร์คือข้อได้เปรียบที่จะพัฒนาเราให้ทำงานทุกอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเอาความรู้ความเข้าใจเหล่านี้มาเสริมศักยภาพ ทำให้เราประสบความสำเร็จไม่ว่าเราจะประกอบสาขาอาชีพใดก็ตาม

 

ยาย - อภิญญา เฟื่องฟูสกุล - อักษรศาสตร์ คือ ชีวิต

ถ่ายทอดโดย ปู กษมา

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

Faculty of Arts, Chulalongkorn University

ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทร. (662) 218 - 4870

Phayathai Road, Pathumwan, Bangkok, Thailand 10330 Tel. (662) 218 - 4870 

Copyright 2016 The Faculty of Arts Chulalongkorn University

  • Facebook Social Icon
  • Twitter Social Icon
bottom of page